การผ่อนบ้านเป็นหนึ่งในภาระที่อยู่กับพวกเราในระยะยาว และต้องมีการวางแผนเพื่อชำระค่างวดอย่างรอบคอบหากเรารู้จักวิธีการคำนวณผ่อนบ้านก็จะช่วยกำหนดสภาพคล่องแต่ละเดือนได้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้เราวางแผนการยื่นกู้ได้เป็นอย่างดี เพราะธนาคารมักจะดูที่ความพร้อมของเราเป็นอันดับแรก วันนี้ สินเชื่อบ้านทีทีบี รวมสูตรคำนวณผ่อนบ้านเบื้องต้นที่ใช้งานได้ เพื่อให้มือใหม่หัดซื้อบ้านรับมือกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อย่างแน่นอน
ความสำคัญของการคำนวณผ่อนบ้านก่อนยื่นกู้
การคำนวณยอดเงินผ่อนบ้านในแต่ละเดือนสำหรับสินเชื่อบ้าน มีความสำคัญอย่างมาก เพราะตามปกติธนาคารจะคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) โดยคำนวณดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นคงเหลือ ทำให้ค่างวดในช่วงแรกๆ มีสัดส่วนของดอกเบี้ยสูงกว่าเงินต้น การเข้าใจวิธีคำนวณนี้จะช่วยให้คุณวางแผนการเงินได้แม่นยำยิ่งขึ้น เรามาดูสูตรการคำนวณกันเลยว่าคิดยังไงบ้าง?
สูตรคำนวณผ่อนบ้านเบื้องต้น
สูตรคำนวณผ่อนบ้านเบื้องต้น เป็นการประเมินความสามารถในการใช้จ่ายของตนเองคร่าว ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจยื่นกู้จริง ในการคำนวณสินเชื่อบ้าน เราจำเป็นต้องรู้องค์ประกอบสำคัญดังนี้
- รายได้ต่อเดือนของผู้กู้
- ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ
- อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR (Debt Service Ratio)
เมื่อทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว เราสามารถนำมาใช้ในการคำนวณเงินผ่อนบ้านที่เหมาะสมกับความสามารถทางการเงินของเราได้ โดยมีสูตรการคำนวณดังต่อไปนี้
สูตรคำนวณเงินผ่อนบ้านที่ชำระไหวเบื้องต้น
ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบ้าน ธนาคารจะประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ยื่นกู้เป็นอันดับแรก โดยใช้หลักการคำนวณอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR ซึ่งโดยทั่วไปไม่ควรเกิน 40-50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน โดยมีสูตรคำนวณ ดังนี้
เงินผ่อนบ้านที่ชำระไหว = (รายได้ต่อเดือน x อัตรา DSR) - ภาระหนี้อื่นๆ ต่อเดือน
ตัวอย่าง หากคุณมีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน ธนาคารกำหนด DSR ที่ 40% และคุณมีภาระหนี้อื่นๆ 5,000 บาทต่อเดือน เงินผ่อนบ้านที่ชำระไหว = (50,000 x 40%) - 5,000 = 15,000 บาทต่อเดือน
ต่อมาคำนวณประมาณการวงเงินที่สามารถกู้ซื้อบ้านได้
= (ความสามารถผ่อนชำระหนี้บ้านต่อเดือน x 1,000,000) / 7,000 บาท
= (15,000 x 1,000,000) / 7,000 = 2.14 ล้านบาท
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่า สามารถซื้อบ้านได้ราคาประมาณที่ 2.14 ล้านบาท เพื่อให้สามารถผ่อนไหว ไม่หนักเกินไป และยังมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงอยู่
สูตรคำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด
ในการคำนวณผ่อนบ้าน เราต้องคำนึงถึงดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละงวด ซึ่งจะลดลงตามยอดเงินต้นคงเหลือ (ดอกเบี้ยลดต้นลดดอก) ทำให้ต้องคำนวณใหม่ทุกเดือน โดยมีสูตรคำนวณ ดังนี้
ดอกเบี้ยในแต่ละงวด = (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) / 365
ตัวอย่าง หากคุณมีเงินต้นคงเหลือ 2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี และมี 30 วันในงวดนั้น ดอกเบี้ยในงวดนั้น = (2,000,000 x 3% x 30) / 365 = 4,931.51 บาท
สูตรคำนวณเงินต้นในแต่ละงวด
การคำนวณเงินต้นที่ต้องจ่ายในแต่ละงวด ใช้สูตรคำนวณ ดังนี้
เงินต้นที่ชำระต่องวด = ค่างวดรวม - ดอกเบี้ยต่องวด
ตัวอย่าง หากค่างวดรวมของคุณคือ 15,000 บาท และดอกเบี้ยต่องวดคือ 4,931.51 บาท เงินต้นที่ชำระต่องวด = 15,000 - 4,931.51 = 10,068.49 บาท
สูตรคำนวณเงินต้นคงเหลือ
การติดตามเงินต้นคงเหลือสามารถวางแผนการชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสูตรคำนวณ ดังนี้
เงินต้นคงเหลือ = เงินต้นคงเหลืองวดก่อนหน้า - เงินต้นที่ชำระในงวดปัจจุบัน
ตัวอย่าง หากเงินต้นคงเหลืองวดก่อนหน้าคือ 2,000,000 บาท และคุณชำระเงินต้นในงวดปัจจุบัน 10,068.49 บาท เงินต้นคงเหลือ = 2,000,000 - 10,068.49 = 1,989,931.51 บาท
ซึ่งเมื่อเงินต้นลดลง อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละงวดนั้นจะลดลงเรื่อยๆตามเช่นกัน
ปัจจัยสำคัญที่ธนาคารใช้พิจารณาอนุมัติวงเงินกู้
แม้ว่าเราจะเข้าใจในการคำนวณเงินผ่อนบ้านมาแล้วเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าธนาคารเองก็ต้องพิจารณาความสามารถในการยื่นกู้ของเราจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
1. รายได้และความสามารถในการชำระหนี้
ธนาคารจะพิจารณารายได้และความสามารถในการชำระหนี้เป็นอันดับแรก โดยดูจากรายได้ประจำ รายได้เสริม และภาระหนี้สินที่มีอยู่ ซึ่งจะนำมาคำนวณอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เพื่อประเมินความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ ยิ่งเรามีรายได้สูงและภาระหนี้ต่ำ โอกาสในการได้รับอนุมัติก็จะมากขึ้น
2. ประวัติเครดิตบูโร
ประวัติเครดิตบูโรเป็นเสมือนใบรับรองความน่าเชื่อถือทางการเงินของคุณ ธนาคารจะตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ในอดีต หากมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี ตรงเวลา ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ จะเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านและอาจได้รับข้อเสนอดอกเบี้ยที่ดีกว่า
3. อายุและอาชีพของผู้กู้
อายุและอาชีพของผู้กู้เป็นปัจจัยที่ธนาคารนำมาพิจารณาเพื่อประเมินความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โดยทั่วไป ผู้กู้ที่มีอายุระหว่าง 20-50 ปี และมีอาชีพที่มั่นคง รายได้แน่นอน มีโอกาสได้รับการพิจารณามากขึ้น เพราะมีแนวโน้มที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตและสามารถผ่อนชำระได้ตลอดอายุสัญญา
4. มูลค่าและประเภทของหลักประกัน
มูลค่าและประเภทของหลักประกัน มีผลต่อวงเงินกู้ที่ธนาคารจะอนุมัติ โดยทั่วไป ธนาคารจะให้วงเงินกู้ตั้งแต่ 70-100% ของราคาประเมินหลักประกัน นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อมของทรัพย์สินก็มีผลต่อการพิจารณาด้วย หากทำเลดี สภาพดี มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นในอนาคต จะมีโอกาสอนุมัติได้มากกว่า
การเข้าใจปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถคำนวณผ่อนบ้านและเตรียมตัวยื่นกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ธนาคารใช้ในการพิจารณาสินเชื่อบ้าน หากเราวางแผนการเงินเอาไว้อย่างรอบคอบ ลองคำนวณค่างวดผ่อนบ้านเบื้องต้น จะช่วยให้คุณประเมินความพร้อมของตนเองได้อย่างแม่นยำ ทำให้สามารถวางแผนการผ่อนชำระในแต่ละเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาถึงตรงนี้ใครที่กำลังมองหาทางเลือกในการซื้อบ้านที่คล่องตัวที่สุด ทีทีบี มีบริการสินเชื่อบ้านพร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการทั้ง สินเชื่อบ้านใหม่ - บ้านมือสอง สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ และ สินเชื่อบ้านแลกเงิน สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมและเงื่อนไขการสมัคร สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม หรือกรอกข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อรับคำปรึกษา ได้ที่นี่
*กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว : สินเชื่อบ้านใหม่-บ้านใหม่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญา 4.89% - 5.95% ต่อปี • สินเชื่อบ้านมือสองอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญา 5.64% - 6.73% ต่อปี • สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญา 4.97% - 5.39% ต่อปี • สินเชื่อบ้านแลกเงิน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดอายุสัญญา 6.57% - 10.23%ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ย MRR = 7.83%ต่อปี ณ วันที่ 3 ต.ค.66 • อัตราดอกเบี้ยลอยตัวสามารถเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ • เงื่อนไขการสมัคร และอนุมัติสินเชื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด