external-popup-close

คุณกำลังออกจากเว็บไซต์ ทีทีบี
เพื่อเข้าสู่

https://www.ttbbank.com/

ตกลง

จรรยาบรรณของธนาคาร


วัตถุประสงค์

ธนาคารกำหนดหลักจรรยาบรรณของธนาคาร เพื่อเป็นแนวทางสำหรับกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของธนาคาร และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินปฏิบัติ โดยบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของแต่ละบริษัทอย่างสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน


นิยาม

บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน

บริษัทที่ธนาคารถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 และได้รับอนุญาตจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ปัจจุบันได้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์พหลโยธิน จำกัด บริษัท ทหารไทยธนชาต โบรกเกอร์ จำกัด และ บริษัท ทีทีบี คอนซูมเมอร์ จำกัด


พนักงาน

พนักงาน / ลูกจ้าง ของธนาคาร หรือ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน

1. จรรยาบรรณด้านการประกอบธุรกิจ

ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินพึงดูแลให้พนักงานปฏิบัติตามจรรยาบรรณด้านการประกอบธุรกิจ ดังต่อไปนี้

  1. 1. พนักงานของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินจะต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักการขั้นพื้นฐาน ดังนี้
    1.1 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดมั่นในคุณธรรมจรรยาบรรณต่อการปฏิบัติงาน
    1.2 ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบภายในของแต่ละธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
    1.3 มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง และป้องกัน หลีกเลี่ยงการกระทำหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมซึ่งอาจนำมาสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม
    1.4 ปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และความระมัดระวังรอบคอบ
    1.5 พึงรักษาผลประโยชน์ของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เช่น เก็บรักษาข้อมูลความลับ ไม่ใช้ข้อมูลภายใน ตลอดจนไม่อาศัยอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางที่มิชอบให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น
  2. ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินพึงจัดให้มีนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (AML/CTPF) ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนด เช่น การจัดให้มีกระบวนการรู้จักและพิสูจน์ทราบตัวตนของลูกค้า (KYC/CDD) และควรมีการนำเรื่องแหล่งที่มาของรายได้และประมาณการรายได้ (หากมี) มาพิจารณา โดยมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ตลอดจนจัดให้มีกระบวนการติดตามความเคลื่อนไหวในการทำธุรกรรมของลูกค้า และทบทวนข้อมูลลูกค้าตามระดับความเสี่ยง และมีการจัดทำรายงานธุรกรรมแต่ละประเภทไปยังสำนักงาน ปปง. ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด


2. บทบาทของกรรมการและผู้บริหาร

กรรมการและผู้บริหารของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินพึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลทุกระดับในองค์กร ดังต่อไปนี้

  1. กรรมการและผู้บริหารต้องมีหน้าที่ และจะต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถ (Fiduciary Duty) ซื่อสัตย์สุจริต (Duty of Loyalty) สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร เป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร มีการสื่อสารและถ่ายทอดนโยบายไปสู่บุคลากรทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม
  2. กรรมการและผู้บริหารมีบทบาทสำคัญ และเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบโดยตรงในการดำเนินธุรกิจให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยนำหลักการการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Society) และธรรมาภิบาล (Governance) เช่น Responsible Lending มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งภายใต้กรอบกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม โปร่งใส รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี
  3. กรรมการและผู้บริหารเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างผู้ถือหุ้นและฝ่ายจัดการ ในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ รวมทั้งจัดให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ที่ส่งเสริมการสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่ดีปลูกฝังเรื่องการปฏิบัติตามจริยธรรมรวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร (Compliance Culture)
  4. กรรมการต้องดูแลให้ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน มีนโยบายและกรอบการกำกับดูแลความเสี่ยงที่ดี รวมถึงระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน กำกับดูแลให้คณะกรรมการกำกับความเสี่ยง (Risk Oversight Committee) ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ ผู้บริหารของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินจะต้องพิจารณาความเสี่ยงต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) และเป็นไปตามที่ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินกำหนด
  5. จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์กร (Executive Sharing Experience Session)


3. มาตรฐานการให้บริการ

ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย โดยจัดให้มีมาตรฐานการให้บริการ ดังต่อไปนี้

  1. จัดให้มีการอบรมหรือสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้า และการขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ
  2. จัดให้มีคู่มือปฏิบัติงานเพื่อให้บุคลากรสามารถเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ในการขายผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าและเป็นธรรม โดยอาจจัดทำเป็นคู่มือปฏิบัติงาน เช่น Do & Don’t เป็นต้น
  3. จัดให้มีมาตรฐานที่ธนาคารและแต่ละบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินพึงปฏิบัติ โดยกำหนดกระบวนการขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินก่อนการขายและระหว่างการขาย (Master Sale Process) เช่น การจัดให้มีบทสนทนาที่ใช้ในการขาย (Sales Script) เอกสารข้อมูลสำคัญของผลิตภัณฑ์ (Sales Sheet) เป็นต้น
  4. มีการถ่วงดุลการปฏิบัติงานของการควบคุม กำกับ และตรวจสอบ (3 Lines of Defense) ดังนี้
    4.1 หน่วยงานหรือผู้ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและควบคุมความเสี่ยงในชั้นแรก (First Line of Defense)
    • จัดให้มีการสุ่มโทรศัพท์สำรวจและประเมินผลความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่ทำหน้าที่ในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารและ/หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เช่น Random Call หรือที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
    • จัดให้มีการสุ่มโทรศัพท์ติดต่อลูกค้าเพื่อสำรวจความพึงพอใจต่อการใช้บริการ ของธนาคารและ/หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เช่น Call Survey หรือที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
    • ในกรณีที่ลูกค้าไม่ประสงค์จะให้ธนาคารและ/หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินติดต่อเพื่อเสนอขายผลิตภัณฑ์ ธนาคารและ/หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินจะต้องมีกระบวนการในการจัดการกับกลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหว (Do not call list)
    4.2 หน่วยงานบริหารความเสี่ยงและหน่วยงานกำกับกฎเกณฑ์ (Second Line of Defense) จัดให้มีการสุ่มสอบทานแบบไม่แสดงตัวตน (Mystery Shopping) เพื่อให้มีการปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกหน่วยงานหรือกลุ่มตัวอย่างที่จะดำเนินการสุ่มสอบทานให้เหมาะสม
    4.3 หน่วยงานตรวจสอบภายใน (Third Line of Defense) ดำเนินการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบ (Audit Program) และสามารถตรวจสอบนอกแผนได้ อย่างเป็นอิสระหากมีความจำเป็น


4. พนักงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ควรจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานทุกคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้

  1. จัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย (Safe Workplace) สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ในการทำงานที่เพียงพอ และพร้อมให้บริการแก่ลูกค้า
  2. จัดให้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานที่เป็นธรรม ให้เกียรติ และให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ (No Discrimination) ในความแตกต่างของบุคคล เช่น เชื้อชาติ เพศ ศาสนา อายุ เป็นต้น
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนา (Upskill) และเสริมสร้าง (Reskill) ให้พนักงานมีทักษะที่เหมาะสม เช่น การจัดอบรมแบบบรรยาย (In-Class learning) การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ (E-learning) การสัมมนา (Seminar) การฝึกอบรมในงาน (On the job training) เป็นต้น ตลอดจนให้โอกาสพนักงานในการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
  4. จัดให้มีการวางแผนเส้นทางความก้าวหน้าในตำแหน่งงาน (Career Path) อย่างเหมาะสมตามศักยภาพของพนักงานแต่ละคน
  5. จะต้องเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานไว้เป็นความลับ ไม่แสวงหาผลประโยชน์
  6. ในกรณีที่มีการสอบสวนเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพนักงาน ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน พึงให้การดูแลพนักงานในการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับและตรวจสอบ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
  7. พึงดูแลพนักงานไม่ให้เกิดการคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางคำพูด หรือกิริยาท่าทางที่อาจกระทบต่อเกียรติหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นในที่ทำงาน
  8. จัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือทุจริต (Whistle Blowing Channel) เกี่ยวกับเรื่องทุจริตหรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องอื่น ๆ โดยมีกระบวนการตามระยะเวลาที่ธนาคารและ/หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินกำหนด (SLA) และมีมาตรการคุ้มครองผู้ที่แจ้งข้อมูล เบาะแส ที่เป็นธรรมและเหมาะสม


5. ความรับผิดชอบต่อลูกค้า

ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ควรให้ความสำคัญและปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างมีความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้

  1. ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน พึงดำเนินการภายใต้ 4 หลักการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่ “ไม่หลอก ไม่รบกวน ไม่บังคับ ไม่เอาเปรียบ”
  2. ในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Launch) ควรมีองค์คณะชุดย่อยหรือคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ทำหน้าที่กลั่นกรองและคัดเลือกผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสอดคล้องกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
  3. จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน เช่นข้อมูลอัตราดอกเบี้ย อัตราค่าบริการและค่าธรรมเนียม เงื่อนไขผลิตภัณฑ์และบริการ สิทธิประโยชน์ ข้อควรระวัง เป็นต้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบและตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการและความเสี่ยงของลูกค้า ไม่โฆษณาเกินจริง หรือให้ของรางวัลเกินจริง
  4. สื่อการตลาด และโฆษณาประชาสัมพันธ์ควรให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ Market Conduct และเป็นไปตามจริยธรรมและจรรยาบรรณที่ดี
  5. จัดให้มีกระบวนการในการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เช่น ลูกค้าสูงอายุ ผู้พิการ หรือมีความบกพร่องทางการได้ยิน และสายตา เป็นต้น
  6. จัดให้มีบริการลูกค้าหลังการขายที่ชัดเจนและเหมาะสม เช่น แจ้งรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมให้ลูกค้าทราบ การสำรวจความพึงพอใจต่อการให้บริการ (Call Survey) เป็นต้น
  7. ปกป้องรักษาข้อมูลลูกค้าให้เป็นความลับ เว้นแต่กรณีที่ ธนาคารและ/หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ได้รับความยินยอมจากลูกค้า โดยจะต้องดำเนินการภายใต้ความยินยอมที่ลูกค้าให้ไว้เท่านั้น หรือกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
  8. จัดให้มีช่องทางต่าง ๆ ที่ให้ลูกค้าสามารถติดต่อได้ง่าย เช่น สาขา Call Center Website เป็นต้น
  9. จัดให้มีช่องทางและกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ


6. ความขัดแย้งผลประโยชน์

ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินพึงจัดให้มีมาตรการเพื่อบริหารจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในการดำเนินธุรกิจ ดังต่อไปนี้

  1. ด้านการรับหรือให้ของขวัญ
    ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินพึงดำเนินการในเรื่อง การให้-งดรับของขวัญ (No Gift Policy) เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานและส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กร ดังนี้
    1.1 แนวปฏิบัติด้านการรับของขวัญ
    ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินงดรับของขวัญทุกชนิดที่ได้อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อไม่ก่อให้เกิดการโน้มน้าวหรือจูงใจอย่างไม่เป็นธรรมต่อการประกอบธุรกิจ และไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เว้นแต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อกันทางธุรกิจ ให้อนุโลมสามารถรับของขวัญได้ แต่จะต้องถือปฏิบัติตามกระบวนการภายในของธนาคารและแต่ละบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามความเหมาะสม
    1.2 แนวปฏิบัติด้านการให้ของขวัญ
    (1) ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินมีกระบวนการจัดหาและให้ของขวัญที่เหมาะสม และมีมูลค่าที่ไม่สูงเกินควร โดยของขวัญดังกล่าวต้องไม่มีผลต่อการตัดสินใจหรือจูงใจในการเลือกปฏิบัติ และไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยพิจารณาถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นสำคัญ
    (2) ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินมีกระบวนการอนุมัติที่ชัดเจน รัดกุม เหมาะสม และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีการถ่วงดุลและการควบคุมภายในที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  2. ด้านการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์
    2.1 จัดให้มีการแบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรในหน่วยงานที่มีโอกาสได้รับข้อมูลจากการปฏิบัติงาน (ข้อมูลภายใน) ออกจากหน่วยงานอื่น (Chinese Wall)
    2.2 จัดให้มีทะเบียนรายชื่อบุคคลที่มีโอกาสเข้าถึงหรือล่วงรู้ข้อมูลภายใน (Insider List) และจำกัดบุคคลที่เข้าถึงข้อมูลเท่าที่จำเป็น (Need to Know Basis)
    2.3 พนักงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งการมีส่วนได้เสียหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของตนเอง (Self-Declaration) ก่อนที่จะปฏิบัติงาน รวมทั้งลงนามรับรองว่าจะไม่มีการเปิดเผยหรือนำข้อมูลที่ล่วงรู้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
    2.4 จัดให้มีนโยบายหรือระเบียบปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อกำกับดูแลพนักงานที่เข้าถึงข้อมูลภายใน บัญชีรายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องติดตามการทำธุรกรรม (Watch list) และบัญชีรายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องจำกัดการทำธุรกรรม (Restricted List) และรายงานการถือครองหลักทรัพย์
    2.5 จัดให้มีระบบการควบคุมภายใน และวิธีการรายงาน หากเกิดกรณีที่มีการรั่วไหลของข้อมูลเกิดขึ้น
    2.6 จัดให้มีการสื่อสาร อบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเก็บรักษาและการจัดการข้อมูลลับ
  3. ด้านการจัดซื้อจัดจ้างกับคู่ค้า
    3.1 จัดให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างทำ Self-Declaration ว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคู่ค้า
    3.2 จัดให้มีการตรวจสอบสถานะของคู่ค้า (Due Diligence) ก่อนดำเนินการว่าจ้าง เช่น ประสบการณ์ ชื่อเสียงในเชิงลบ การควบคุมภายใน หรือพิจารณาจากมาตรการป้องกันการทุจริต เป็นต้น
    3.3 จัดให้มีข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างหรือรายละเอียดขอบเขตงาน (Term of Reference: TOR) ว่าคู่ค้าจะดำเนินงานที่ว่าจ้างโดยปราศจากการทุจริตต่อธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินและบุคคลภายนอกในทุกรูปแบบ
    3.4 จัดให้มีการอบรมหรือสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงานเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต
    3.5 จัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดหรือทุจริต (Whistle Blowing Channel) โดยมีมาตรการคุ้มครอง ผู้ที่แจ้งข้อมูล เบาะแส ที่เป็นธรรมและเหมาะสมด้วย


7. การจัดการข้อมูล

ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินควรมีการจัดการข้อมูลต่าง ๆ ให้เหมาะสม ดังต่อไปนี้

  1. การกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินจะต้องมีระบบกระบวนการ ขั้นตอนในการเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวให้เหมาะสม และปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
    (1.1) ข้อมูลของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน จะต้องจัดให้มีการคุ้มครองข้อมูลความลับดังกล่าว (Data Protection) ตลอดจนจัดให้มีการจัดชั้นความลับของข้อมูล การเก็บรักษาข้อมูล และการทำลายข้อมูลในแต่ละชั้นความลับ เป็นต้น
    (1.2)ข้อมูลลูกค้า ต้องมีการเก็บรักษาไว้เป็นความลับ โดยธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินต้องไม่เปิดเผยข้อมูลลูกค้าเกินกว่าที่ลูกค้าให้ความยินยอมไว้ และนำข้อมูลลูกค้าไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ลูกค้าให้ความยินยอม
  2. ในสัญญาว่าจ้าง ให้มีข้อความที่ระบุให้พนักงานพึงเก็บรักษาข้อมูลความลับที่ล่วงรู้มาจากการปฏิบัติงานโดยจัดให้มีการกำหนดข้อตกลงในการรักษาข้อมูลความลับของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินทั้งหมด และไม่พึงเปิดเผยตลอดระยะเวลาการเป็นพนักงานและเมื่อสิ้นสุดการเป็นพนักงาน
  3. จัดให้มีการอบรมหรือสื่อสารให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  4. จัดให้มีกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าที่เหมาะสม (Due Diligence) และกำหนดความรับผิดชอบของคู่ค้าในการรักษาข้อมูลความลับในสัญญาว่าจ้างงาน
  5. ในกรณีที่มีการสื่อสาร แถลงการณ์ หรือการให้ข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และลูกค้าจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม และหากเป็นการดำเนินการต่อสื่อมวลชน หรือสื่อใด ๆ จะต้องกระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลในนามของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินเท่านั้น


8. การกำกับดูแลโดยรวม

ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินพึงกำกับดูแลการปฏิบัติงานของบุคลากรและการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Culture) ดังต่อไปนี้

  1. จัดให้มีการประชุมและมีการทำงานร่วมกันของ 3 Lines of Defense เช่น การติดต่อประสานงาน (Coordinate) การร่วมมือกัน (Collaborate) เป็นต้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการกำกับดูแล และลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน
  2. จัดให้มีการกำหนดมาตรฐานในการสุ่มสอบทาน ตรวจสอบภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับกฎเกณฑ์และหน่วยงานตรวจสอบภายใน (Oversight Function)
  3. จัดให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ เพื่อมุ่งสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Culture) ให้อยู่ในจิตสำนึกของพนักงานทุกคน
  4. จัดให้มีเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ (Awareness) ตลอดจนการทบทวน (Refresh) กฎเกณฑ์ให้พนักงาน ผู้ปฏิบัติมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานอยู่เสมอ
  5. จัดให้มีช่องทางต่าง ๆ ในการแจ้งเบาะแส หรือรายงานข้อสงสัยเกี่ยวกับกับความซื่อสัตย์ หรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระบวนการตามระยะเวลาที่แต่ละบริษัทกำหนด (SLA) และมีมาตรการคุ้มครองผู้ที่แจ้งข้อมูล เบาะแส ที่เป็นธรรมและเหมาะสม ตลอดจน หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง จะต้องจัดให้มีการดำเนินการทางวินัยกับพนักงานผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ ที่เหมาะสม และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ


9. การแข่งขันทางการค้าและการระงับข้อพิพาท

เพื่อให้ระบบการดำเนินธุรกิจของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  1. จัดให้มีการดำเนินธุรกิจอย่างเสรีและมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยไม่ปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า เช่น การใช้อำนาจเหนือตลาดในทางมิชอบ (Abuse of Dominant Position) การตกลงร่วมกันเพื่อจำกัดการแข่งขันฯ (Cartels) เป็นต้น หรือปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เช่น จะต้องไม่กล่าวโจมตีคู่แข่ง หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
  2. จะไม่ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้รวมถึงไม่เรียกร้อง หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสม ต่อหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ และเจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อเป็นการจูงใจให้ได้มาซึ่งธุรกิจ หรือความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจหรือความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์อื่นใดอันไม่เหมาะสมตามหลักจรรยาบรรณธุรกิจ
  3. ในการเข้าเสนอราคา หรือเสนอบริการ หรือเข้าทำสัญญากับหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินจะไม่แทรกแซง หรือใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เพื่อกระทำการใด ๆ อย่างไม่เหมาะสมตามจรรยาบรรณธุรกิจปกติ อันเป็นการหลีกเลี่ยงหรือขัดขวางการแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง
  4. จัดให้มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  5. ธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินจัดให้มีกระบวนการที่เหมาะสมในการระงับหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาท